15 พ.ค. 2568
ความทรงจำหลากยุค ผู้คน สถานที่ หรือสิ่งประดิษฐ์ สารพันสิ่งอันล้วนถูกตัดแปะ ปะติดปะต่อเรื่องราว ออกมาเป็นผลงานศิลปะคอลลาจในรูปแบบของ ‘นักรบ มูลมานัส’ ศิลปินชาวไทยผู้โดดเด่นจากการหยิบใช้ความเป็นไทย มาปะทะและสังสรรค์กับวัฒนธรรมอื่น เจ้าของผลงาน Greetings of Times หรือ กาละปฏิสันถาร ที่ว่าด้วยบรรยากาศความเป็นสมัยใหม่ของย่านวิทยุ – พระรามที่ 4 และการสื่อสารที่โต้ตอบตั้งแต่อดีตกาลมายังปัจจุบันขณะ พร้อมเอ่ยถ้อยคำทักทายไปยังอนาคต
แม้จะโดดเด่นมาจากผลงานสองมิติ นักรบ ขยับขยายขอบเขตของผลงานมาเป็นสื่อต่างๆ มากมาย ทั้งผลงานสามมิติ หรือภาพเคลื่อนไหว สำหรับหนนี้เขาสร้างสรรค์ผลงานผ่านแม่พิมพ์ทองแดง ที่ผสมผสานเทคโนโลยีทั้งเก่าใหม่ หยิบ จัด ตัดแปะ ร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ
ชวนอ่านเบื้องหลังพร้อมแรงบันดาลใจ ที่จะพาคุณย้อนอดีตไปข้างหลัง แหวกว่ายสายธารเวลาไปข้างหน้า ดื่มด่ำกับช่วงเวลาปัจจุบัน พร้อมเปิดบทสนทาอีกครั้งหนึ่ง
01 ภาพทรงจำของวันวาน
ประติมากรรมจากแม่พิมพ์ทองแดง ที่รับชมผลงานได้รอบด้าน มีองค์ประกอบหลากหลายทั้งภาพความทรงจำที่ถูกตัดต่อ กลุ่มร้อยกลองไร้ฉันทลักษณ์ที่ชวนให้ฉุกคิด หรือฐานดินที่ให้ความรู้สึกทั้งมั่นคงและอ่อนไหวในเวลาเดียวกัน
การก่อร่างสร้างผลงานนี้ นักรบ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานตั้งแต่วิธีคิด จากการเล่าเรื่องผลงานผ่านช่วงเวลามาให้ความสนใจต่อพื้นที่ ซึ่งหนนี้ร้อยเรียงขึ้นจากเรื่องราวของย่านวิทยุ - พระรามที่ 4 พื้นที่ซึ่งประกอบไปด้วยความเป็นสมัยใหม่มากมายตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ที่จารึกหน้าสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยไว้มากมาย
“ปกติงานของเราจะโฟกัสอยู่ที่ช่วงเวลาหรือยุคสมัย แต่ผลงานชิ้นนี้ตั้งใจว่าให้เป็นเรื่องราวของพื้นที่ จากการค้นคว้าเราพบว่าพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นพื้นที่โล่งมาก่อนและเกิดการพัฒนาเรื่อยมา จนในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีการสร้างสวนลุมพินีขึ้น มีไอเดียของการจัดงานเอ็กซ์โปนานาชาติ อย่างสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ หรือการเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย ที่อาจจะยังไม่ได้มีคนพูดถึงมากนัก”
เกร็ดเล็ก ภาพใหญ่ เรื่องราวที่หลบซ่อนอยู่ในความทรงจำ ผุดพรายขึ้นมาระหว่างการค้นคว้าของศิลปิน จากความตั้งใจในการนำผลงานมาตั้งเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุจัดแสดงในนิทรรศการที่ The Wireless House One Bangkok หรือโครงการอนุรักษ์อาคารวิทยุโทรเลขศาลาแดง ที่ปลุกเรื่องราวที่หลับไหลของสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของไทย พร้อมเรื่องราวที่ผูกพันเข้าหากัน กลับมาเล่าใหม่อีกครั้ง
“เราเริ่มต้นจากประวัติศาสตร์ของสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง ซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่ไม่คุ้นเคย พยายามหาเรื่องราวจากการทำงานของทีม The Wireless House One Bangkok ซึ่งก็จะมีการขุดค้นทางโบราณคดีต่างๆ ต้องบอกว่าการค้นพบทั้งชิ้นส่วน และความเป็นสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของไทยมีความสำคัญมาก เหมือนกับพูดถึงเรื่องของการขับเคลื่อนไปข้างหน้า ที่ประเทศของเราในสมัยนั้น กำลังก้าวไปสู่อีกมิติ อีกอาณาบริเวณหนึ่ง ที่พูดได้ว่าเป็นการก้าวเข้าไปสู่ความเป็นสมัยใหม่
“คราวนี้ในการทำงานเราย้อนกลับมาดูอดีตในสมัยที่กำลังก้าวไปสู่อนาคต แล้วก็มาตีความว่าในปัจจุบัน เราจะสามารถยึดโยงกับอดีตและอนาคตที่ยังมาไม่ถึงได้อย่างไร”
หอนาฬิกาจากยุคสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ที่มียอดมาจากส่วนหัวของเรือเป็ดประจำสวนลุมพินี รถรางที่ประกอบเข้ากับยอดสถาปัตยกรรมที่ไม่คุ้นเคย อาคารที่ถูกยืดออก ผู้คนเต้นรำ และกิจกรรมต่างๆ ถูกปะติดปะต่อเข้าด้วยกันทั้งจากประสบการณ์และกระบวนการค้นคว้าของศิลปิน
“ภาพจำเกี่ยวกับพื้นที่ตรงนี้คือตอนเด็กๆ ที่ได้มาเที่ยวสวนลุมพินี สวนลุมไนท์บาซาร์ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมาย และหยิบจับชิ้นส่วนความทรงจำในยุคสมัยของเราใส่ลงไปในผลงาน หลังจากนั้นก็พยายามเข้าไปดูในมิติที่ลึกลงไปกว่าเดิม ซึ่งมีช่วงเวลาที่เราอาจจะจินตนาการไม่ออกว่าหลังจากยุครัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบัน พยามยามปะติดปะต่อชิ้นส่วนประวัติศาสตร์ขึ้นมา ทั้งพัฒนาการของถนนวิทยุ การจับจองพื้นที่ของสถานทูต องค์ประกอบของวัฒนธรรมตะวันตกที่มีคลับโปโล คลับเต้นรำ หรือการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้เข้ามา
“พอเริ่มเป็นรูปเป็นร่างเราก็เลยค้นพบว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นเหมือนกับการเดินทางที่มีความยาวไกล มีการส่งต่อไปถึงอนาคตมาโดยตลอด เลยเลือกที่จะประมวลชิ้นส่วนที่ทั้งคุ้นเคยและห่างเหิน มาปะติดปะต่อเข้าด้วยกันและจัดวางไว้ในบริเวณเดียวกัน”
02 บทสนทนาข้ามกาลเวลา
อดีต ปัจจุบัน อนาคต พูดคุยติดต่อสื่อสารกันผ่านประติมากรรมของ นักรบ มูลมานัส ที่ได้ตั้งชื่อไว้ว่า Greetings of Times หรือชื่อภาษาไทยคือ กาละปฏิสันถาร ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการส่งข้อความวิทยุโทรเลขครั้งแรกของไทยโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ความว่า
--. .-. . . - .. -. --. / - --- / -.-- --- ..- / --- -. / - .... .. ... --..-- / .-- .... .. -.-. .... / .-- .. .-.. .-.. / -... . / --- -. . / --- ..-. / - .... . / -- --- ... - / .. -- .--. --- .-. - .- -. - / -.. .- -.-- / .. -. / --- ..- .-. / .... .. ... - --- .-. -.—
Greeting to you on this, which will be one of the most important day in our history
ขอแสดงความยินดีต่อพระองค์ในวันนี้ซึ่งจะเป็นวันสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา
“เรารู้สึกว่าการส่งต่อข้อมูลและการขยับขยายของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้มาจากข้อความวิทยุโทรเลขครั้งแรกของไทยทั้งหมด 17 คำ และคำที่สำคัญมากคือคำว่า greeting เรามองว่าคำนี้ไม่ได้เป็นเพียงถ้อยคำจากอดีต แต่มีส่วนร่วมกับชีวิตของเราเสมอ และคำนี้ก็จะส่งต่อเราไปสู่อนาคตด้วย”
สำหรับประติมากรรมชิ้นนี้ถูกนำเสนอผ่านวัสดุหลักอย่าง ‘ทองแดง’ ที่ศิลปินใช้เป็นตัวแทนในการเดินทางสู่ยุคสมัยใหม่ โดยในอดีตทองแดงเป็นส่วนสำคัญในการส่งโทรเลข และถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในการพิมพ์ นักรบ หยิบจับแนวคิดเรื่องการเป็นตัวกลางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของทองแดง มาผูกกับสถานีวิทยุโทรเลข ที่ว่าด้วยเรื่องของการแผ่ขยายเรื่องราว
“เป็นครั้งแรกที่เลือกพิมพ์และทำเพลทจากทองแดง อย่างที่เล่าไปว่าช่วงเวลาหลังรัชกาลที่ 6 ประมาณต้นปี 2500 ตัวเราเองไม่สามารถจินตนาการหรือเห็นภาพสมัยนั้นเท่าไหร่ การประทับเรื่องราวลงไปในแม่พิมพ์ ก็จะทำให้ความทรงจำที่ลางเลือนมีความเป็นจริงขึ้นมา ผนึกภาพความทรงจำให้กลายเป็นวัตถุขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อให้คนเห็นต่อไปเรื่อยๆ”
ท่ามกลางเพลททองแดง จอ LCD ขนาดเล็ก คืออีกหนึ่งองค์ประกอบจากศิลปินคอลลาจที่เราอาจจะไม่คุ้นเคย นักรบ พาผลงานตัดแปะก้าวไปไกลกว่าภาพที่เคยคุ้น ผ่านถ้อยคำ 17 คำ ที่เคยส่งจากกรุงเทพฯ สู่ จังหวัดสงขลาในการส่งข้อความวิทยุโทรเลขครั้งแรกของไทย โดยนำถ้อยคำเหล่านั้นมาสลับและปะติดปะต่อขึ้นมาใหม่
“เริ่มแรกเราลองสลับคำออกมาร้อยเรียงกัน ข้อความเหล่านั้นเหมือนเป็นกลอนเปล่าที่หยิบถ้อยคำของผู้คนในอดีตมาเรียบเรียงใหม่ และต่อมาก็คิดว่าที่จริงควรจะเป็นเรื่องของอนาคตด้วย ก็เลยนำ 17 คำนี้ เป็นสารตั้งต้นของปัญญาประดิษฐ์ ในการแต่งข้อความออกมาเพิ่มเติม
“เรามองว่าสิ่งนี้คือ กาละปฏิสันถาร ที่นำถ้อยคำจากช่วงเวลาหนึ่งมาประมวลกับโลกปัจจุบัน พยายามจะส่งต่อโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของโลกอนาคต ที่ช่วยตีความอดีตออกมาในอีกรูปแบบหนึ่ง ก็เลยมีการผสมผสานของทั้งคน ปัญญาประดิษฐ์ กาลเวลาในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผสมผสานหมุนวนในพื้นที่แห่งนี้”
ด้านฐานของผลงานบอกเล่าความผูกพันระหว่างดินกับเรื่องราวอันหลากหลายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ที่ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ผู้คน สิ่งปลูกสร้าง สถานที่ จะหมุนเวียนอย่างไร ผืนดินก็ยังคงอยู่ที่เดิมเสมอ
“ดินเป็นส่วนเชื่อมต่อไปยังอดีตของพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่ประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือถ้าย้อนกลับไปอีกก็เป็นที่ดินว่างเปล่าผืนหนึ่ง ที่มนุษย์ในยุคสมัยต่างๆ ได้เข้ามาและสร้างความหมายให้เกิดขึ้น ผลงานชิ้นนี้จึงสร้างฐานให้เป็นผืนดิน ที่มีสิ่งปลูกสร้าง กิจกรรม ประติมากรรมต่างๆ ดูราวกับว่างอกเงยมากจากผืนดินนี้”
03 ต่อยอดความทรงจำ
ความสนุกในการเสพผลงานของนักรบ มูลมานัส แบ่งออกเป็นหลายขั้นตอน แวบแรกองค์ประกอบที่ขัดแย้งแต่เข้ากัน ชวนสะดุดให้หยุดตามอง แวบที่สองเราเริ่มมองหาองค์ประกอบและรายละเอียดน้อยนิดมหาศาลที่ศิลปินซ่อนไว้ แวบที่สามเรื่องราวเริ่มปรากฎ บ้างเด่นชัด บ้างลางเลือน เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่พวกเราล้วนชื่นชอบ
หนนี้ ศิลปินชวนมองผลงานจากรอบด้าน เพราะออกแบบให้สามารถรับชมได้จากทุกมุมมอง และจะยิ่งพิเศษขึ้นไปอีกหากผู้ชม ค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องราว จากสารพันความทรงจำที่ว่าด้วยเรื่องราวของสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย และบริเวณวิทยุ-พระรามที่ 4 ที่อยู่ใน The Wireless House One Bangkok
“เรารู้สึกว่าความน่าสนใจก็คือชิ้นงานนี้ไม่ได้อยู่แยกเป็นชิ้นเดียว แต่เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ สามารถเชื่อมโยง เชื่อมต่อ กับข้อมูลหรือชิ้นส่วนทางโบราณคดี ทั้งจากแผนที่ หนังสือ ข้อมูล หรืองานศิลปะ ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่นี่ได้เป็นอย่างดี ขอแนะนำให้รับชมจากรอบด้าน และเชื่อมโยงจากข้อมูลต่างๆ ด้วย”
ศิลปินคอลลาจ ยังตั้งใจหยิบยกทั้งเรื่องราวที่ถูกลืมเลือนและงานศิลปะให้กลับเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น
“ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของแม่พิมพ์ทองแดงคือสามารถนำไปทำเป็นภาพพิมพ์ต่อได้ด้วย พอเราทำงานที่เป็นงานศิลปะมันก็อาจจะเผยแพร่ออกไปได้ส่วนหนึ่ง
“เราก็รู้สึกว่าไหนๆ ก็ทำเป็นแม่พิมพ์มาแล้ว ก็อยากแตกยอดผลงานออกมาทำเป็นชิ้นงานเล็กๆ น้อยๆ เป็นของที่ระลึกที่ The Wireless Club ให้ผู้คนเสพสิ่งนี้ได้ในหลายระดับและหลายรูปแบบ เป็นการขยับขยายวิธีการใช้งาน ได้ใช้ตัวกลางแบบใหม่และตอบคอนเซปต์ที่เราไปศึกษามาด้วย”
รับชมผลงาน Greetings of Times โดย นักรบ มูลมานัส ได้ที่ The Wireless House One Bangkok เปิดให้บริการทุกวันโดยไม่เก็บค่าเข้าชม ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น.
แกลลอรี
แท็ก
แชร์