15 พ.ค. 2568
หลายคนอาจมองว่า การดูงานศิลปะ เป็นเพียงกิจกรรมยามว่างที่ไม่ได้ให้อะไรมากไปกว่าความเพลิดเพลิน แต่ความจริงแล้ว การได้ดื่มด่ำกับงานศิลปะนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพจิตมากกว่าที่เราคาดคิด โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนต้องเผชิญกับความเครียดและความวิตกกังวลอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นี่จึงไม่น่าแปลกใจที่ศิลปะได้กลายมาเป็นหนึ่งในตัวช่วยบำบัดจิตใจสำคัญที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง
ทำไมศิลปะลดความเครียดได้?
นักจิตวิทยาหลายท่านยืนยันถึงประโยชน์ของศิลปะที่มีต่อสุขภาพจิต ซึ่งสามารถช่วยลดความเครียดได้หลายวิธีดังนี้
1. ศิลปะช่วยให้สมองได้พัก
เมื่อเราหมกมุ่นอยู่กับงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการวาด การปั้น หรือการชื่นชม ความคิดฟุ้งซ่านจะค่อย ๆ จางหายไป ทำให้สมองได้พักจากการคิดอย่างต่อเนื่อง เหมือนการกดปุ่มรีเซตฟื้นคืนระบบประมวลผลที่ทำงานหนักมาตลอด
2. ศิลปะกระตุ้นการคิดเชิงบวก
ศิลปะยังกระตุ้นการคิดเชิงบวก เพราะกระบวนการสร้างสรรค์เปิดโอกาสให้เราได้ปลดปล่อยอารมณ์และความรู้สึกผ่านสี รูปทรง หรือเสียง ซึ่งช่วยให้มองโลกในแง่ดีขึ้น งานวิจัยยังเผยด้วยว่าเมื่อทำกิจกรรมศิลปะ สมองจะหลั่งสารโดปามีน (Dopamine) และเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ช่วยสร้างความรู้สึกมีความสุข
3. ศิลปะสร้างการเชื่อมโยงทางอารมณ์
ศิลปะยังสร้างการเชื่อมโยงทางอารมณ์ที่ลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงกับตัวเองหรือผู้อื่น การได้แสดงออกผ่านงานศิลปะหรือการรับชมงานที่สะท้อนความรู้สึกคล้ายกับที่เรากำลังประสบอยู่ ทำให้รู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยวในการเผชิญปัญหา ซึ่งความเข้าใจนี้ช่วยบรรเทาความเครียดได้อย่างมาก
4. ศิลปะเปิดมุมมองใหม่ในการมองปัญหา
กระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะช่วยกระตุ้นความคิดนอกกรอบ ทำให้เราเห็นทางออกที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน โดยเวลาที่เราดื่มด่ำกับศิลปะ สมองซีกขวาจะถูกกระตุ้นจนเกิดการเชื่อมโยงความคิดใหม่ ๆ ที่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ได้
5. ศิลปะสร้างพื้นที่แห่งความสงบในจิตใจ
ศิลปะเปรียบเสมือนสถานที่ปลอดภัยให้เราได้หลบหนีจากความวุ่นวายภายนอก การจดจ่อกับงานศิลปะสามารถนำไปสู่สภาวะที่คล้ายกับการทำสมาธิ ที่เรียกว่า "Flow State" ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จิตใจมีความสงบ ปลอดโปร่ง และมีสมาธิอย่างลึกซึ้ง จึงช่วยให้จิตใจสงบและผ่อนคลายอย่างแท้จริง
4 แนวทางการชมงานศิลปะเพื่อลดความเครียด
สำหรับแนวทางการชมศิลปะลดความเครียด คุณไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ว่าศิลปะชิ้นนั้น ๆ ใช้เทคนิคอะไร ศิลปินผู้สร้างสรรค์เป็นใคร หรือแม้แต่รู้ว่าศิลปะนั้น ๆ สร้างขึ้นในยุคไหน เพราะแก่นหลักของการชมงานก็คือการ "ดื่มด่ำ" และ "รู้สึก" กับงานนั้น ๆ ให้ได้มากที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ตามแนวทางดังต่อไปนี้
1. ปล่อยใจให้รู้สึก ไม่ต้องเข้าใจทั้งหมด
เมื่อยืนอยู่หน้างานศิลปะชิ้นใด อย่าพยายามวิเคราะห์หรือแปลความหมายมากเกินไป แทนที่จะคิดว่า "งานนี้หมายถึงอะไร" ลองถามตัวเองว่า "งานนี้ทำให้ฉันรู้สึกอย่างไร" จากนั้นเปิดใจรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยไม่ตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นความสงบ ความตื่นเต้น หรือแม้แต่ความสับสน เพราะทุกความรู้สึกล้วนมีคุณค่าในการเชื่อมโยงกับตัวตนภายในของคุณ และบ่อยครั้งที่การปล่อยใจให้รู้สึกเช่นนี้ อาจช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองและก้อนความรู้สึกที่ถูกกดทับไว้โดยไม่รู้ตัว
2. ใช้เวลากับสิ่งที่สะกิดใจ แทนการรีบดูให้ครบ
หลายคนมักรู้สึกว่าต้องเดินดูทุกชิ้นงานในพิพิธภัณฑ์เพื่อให้คุ้มค่าตั๋วเข้าชม แต่ทว่าการเร่งรีบกลับทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทางศิลปะ (Museum Fatigue) ได้ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น หากมีงานชิ้นใดดึงดูดความสนใจเป็นพิเศษ จงใช้เวลาอยู่กับสิ่งนั้นนาน ๆ สังเกตรายละเอียด เส้นสี รูปทรง และเทคนิคที่ศิลปินใช้ เพราะบางครั้ง การได้ดื่มด่ำกับงานที่ถูกใจเพียงไม่กี่ชิ้น อาจให้ประสบการณ์ที่ลึกซึ้งมากกว่าการกวาดสายตาผ่านร้อยชิ้นงานด้วยซ้ำ
3. จดบันทึกความรู้สึก เพื่อสะท้อนภาพในใจ
การนำสมุดเล็ก ๆ ติดตัวไปด้วยขณะชมงานศิลปะ ช่วยเปิดช่องทางการแสดงออกทางความคิดและอารมณ์ได้อย่างดี หลังจากชมงานที่ประทับใจ ลองใช้เวลาสักครู่จดบันทึกความรู้สึก ความทรงจำที่ผุดขึ้น หรือแม้แต่คำถามที่เกิดขึ้นในใจ จะช่วยให้คุณเชื่อมโยงกับงาน และปลดปล่อยความคิดที่อาจอัดอั้นอยู่ภายใน
4. ร่วมกิจกรรมเสริม สร้างประสบการณ์และมิตรภาพใหม่
หากมีโอกาส แนะนำให้เข้าร่วมทัวร์นำชมโดยภัณฑารักษ์หรือเวิร์กช็อปที่จัดโดยพิพิธภัณฑ์ เพราะการรับฟังเรื่องราวเบื้องหลังหรือแนวคิดของศิลปินอาจเปิดโลกทัศน์ที่เราไม่เคยนึกถึง ที่สำคัญ นี่ยังเป็นโอกาสดีในการพบปะผู้คนที่มีความสนใจคล้ายกัน ซึ่งอาจนำไปสู่มิตรภาพใหม่และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดี และลดความเครียดได้อย่างยั่งยืน
วัน แบงค็อก (One Bangkok) เปิดประตูสู่โลกแห่งศิลปะใจกลางกรุงเทพฯ
เมื่อพูดถึงพลังของศิลปะบำบัด วัน แบงค็อก (One Bangkok) ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการรวบรวมงานศิลประดับโลกมาไว้ใจกลางกรุงเทพฯ ผ่าน "Art Loop" เส้นทางแห่งศิลปะที่ทอดยาวทั่วโครงการโดยเชื่อมโยงทุกชิ้นงานศิลปะและทุกโปรแกรมเข้าด้วยกัน สะท้อนปรัชญาแนวคิดของโครงการที่มุ่งผสานศิลปะและวัฒนธรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ผลงานประติมากรรมจากศิลปินระดับโลก ได้แก่ "S-Curve" โดย เซอร์ อนิช คาพัวร์ (Sir Anish Kapoor) ศิลปินเจ้าของผลงานอันโด่งดัง "Cloud Gate" หรือ "The Bean" ที่ชิคาโก ผลงาน "S-Curve" สร้างประสบการณ์พิเศษด้วยแผ่นสเตนเลสขัดเงาที่สะท้อนภาพแวดล้อมในมุมมองที่แปลกตา ด้วยพื้นผิวเรียบไร้รอยต่อดั่งกระจกที่ดึงดูดทิวทัศน์เมืองและผู้ชมเข้าหาตัวชิ้นงาน ชวนให้ผู้ชมได้ปลดปล่อยจินตนาการ
ในขณะที่ผลงาน 'It is, it isn't' โดยโทนี แคร็กก์ (Tony Cragg) ศิลปินระดับโลกจากอังกฤษ สื่อถึงความกลมกลืนของธรรมชาติและความเป็นเมือง ก็ยังสะท้อนภาพรวมแนวคิดของโครงการวัน แบงค็อก ในฐานะพื้นที่ที่ผสานศิลปะเข้ากับชีวิตเมืองอย่างกลมกลืน
วัน แบงค็อก (One Bangkok) ก้าวไปไกลกว่าการเป็นแค่โครงการอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการสร้างพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์ทางศิลปะระดับโลกได้ทุกวัน โดยการผสานงานอาร์ต (Art) เข้ากับพื้นที่ใน One Bangkok ซึ่งไม่เพียงเติมเต็มสีสันให้แก่เมือง แต่ยังมอบพื้นที่สาธารณะแห่งการพักใจให้ผู้คนได้หยุดพัก ปล่อยวางความคิดยุ่งเหยิง และเติมเต็มพลังชีวิตผ่านการดื่มด่ำกับงานศิลปะที่งดงาม นี่จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาเมืองที่เข้าใจและใส่ใจทั้งกายและใจของผู้คนอย่างแท้จริง
แท็ก
แชร์